-:- ให้โลกเป็นสีชมพู -:-

ละลายเสมหะ แก้เจ็บคอด้วยดอกลำเจียก

ลำเจียก มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นไม้พุ่ม แตกลำต้นเป็นกอใหญ่ สูงประมาณ 4-6 เมตร มีรากอากาศโผล่ออกมาจากโคนต้น ใบเรียวแหลม ยาวและหนา ขอบใบเป็นจัก มีหนามแหลม ใต้ท้องใบมีแกนกลาง ลักษณะคล้ายใบสับปะรด ดอกโผล่ออกจากกลางลำต้น ดอกเริ่มบานเวลาเย็นและมีกลิ่นหอมฉุน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอหรือแยกหน่อ ต้องกาความชื้นและน้ำในปริมาณที่มาก ชอบขึ้นตามริมน้ำ หรือใกล้แหล่งน้ำขึ้นดีในดินอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย หรือดินเหนียวปนทรายอุ้มน้ำ ลำเจียกมองผิวเผินแล้วจะคล้ายกับต้นการะเกด ชื่อก็จะเรียกเหมือนกัน เพราะบางพื้นที่ก็จะเรียกต้นการะเกดว่า ลำเจียกหนู บางพื้นที่จะเรียกต้นลำเจียกว่าปะหนัน หรือรันจวญ

เรื่องราวทางด้านสมุนไพร

ต้นลำเจียกจะนิยมใช้ส่วนที่เป็นราก หรือรากอากาศที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา นำมาทำเป็นยาสมุนไพร มีรสเย็นและหวานเล็กน้อย ต้มเป็นยาหม้อ ดื่มแก้พิษเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ
ดอกลำเจียกละลายเสมหะ แก้เจ็บคอ

ดอกลำเจียกจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คุณค่าสมุนไพรจะมีเต็มที่หากเราเก็บในช่วงเวลาเย็น เพราะเป็นช่วงที่ดอกลำเจียกมีกลิ่นหอมมากที่สุด จะใช้ดอกลำเจียกสดก็ได้ แต่โดยมากจะนิยมใช้ดอกลำเจียกแห้ง เพราะใช้สะดวกและเก็บไว้ได้นานกว่า เด็ดดอกลำเจียกเวลาเย็น นำไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วบดให้เป็นผงเวลาใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม เพื่อละลายเสมหะใยลำคอ แก้เจ็บคอ ในบางครั้งก็นำมาใส่น้ำแข็งและปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มความสดชื่น หรือจะใช้ปรุงเป็นน้ำมันหอมใส่ผมเช่นเดียวกับดอกการะเกดก็ได้ ใช้ดอกลำเจียกที่เก็บมาเวลาเย็นถึงพลบค่ำ เพื่อให้ดอกลำเจียกมีกลิ่นหอมมากที่สุด บีบให้พอช้ำทอดกับน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยแล้วเก็บเอาน้ำมันไว้ใส่ผม เพื่อให้มีกลิ่นหอม และบำรุงผมให้แข็งแรง และเป็นมันเงา

ชื่อ : ดอกลำเจียก (Pandanus)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus odoraissimus
วงศ์ : PANDANACEAE